แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มทุกประเภท นอกจากจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังทำให้ความสนใจในการเรียนลดลง สมาธิลดลง การทำงานที่ต้องการฝีมือแย่ลง ทำให้อารมณ์หงุดหงิด นิสัยและพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางก้าวร้าว
ตามสถิติพบว่า ผู้ที่ดื่มสุราตั้งแต่อายุน้อยๆ จะเกิดปัญหาที่รุนแรงกว่าและแก้ไขยากกว่า และพวกที่ดื่มประจำ มักจะเป็นพวกสูบบุหรี่จนติด และมีโอกาสที่จะเสพยาเสพติดไม่ว่าจะเป็น กัญชา เฮโรอีน ยาม้า ยาอี มากกว่าคนทั่วไป
ปฏิกิริยาของแอลกอฮอล์ในร่างกาย
ปฏิกิริยาแรกที่เกิดขึ้นทันทีที่ดื่มเหล้าแล้ว แอลกอฮอล์เข้าสู่ตับ เอนไซม์ในตัวคนเราจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นสารตัวใหม่ ชื่อ อะเซ็ตทัลดีไฮด์ (acetaldehyde) แล้วเปลี่ยนต่อเป็นสารอะซิเทต (acetate) แล้วเคลื่อนตัวไปยังสมอง รวมไปถึงอวัยวะต่างๆ อีกมากมายหลายส่วน
ผลจากการเคลื่อนตัวไปยังส่วนต่างๆ นี่เองทำให้ร่างกายสำแดงอาการเริ่มตั้งแต่อาการสมองโปร่งโล่งสบายในระยะแรก แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความรู้สึกคล้ายกับถูกบีบหนักๆ ร่างกายเริ่มผิดเพี้ยน เคลื่อนไหวโซซัดโซเซ ลิ้นก็ชักจะแข็งๆ พูดจาอ้อแอ้หูอื้อตาลายและแดงกล้ำไปด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์บางคนถึงขนาดความจำเสื่อมไปชั่วขณะ
ถ้าดื่มต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ก็จะตามมาติดๆ ด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน และเกิดปฏิกิริยาผิดเพี้ยนอื่นๆ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน
ปฏิกิริยาต่อมาเป็นกระบวนการต่อเนื่องจากปฏิกิริยาแรก ส่งผลให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ปกติเซลล์สมองจะมีกลไกป้องกันตัวเอง โดยการเปลี่ยนแปลงผนังเซลล์ให้หนามากพอ ที่จะไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำลาย
ดังนั้นเมื่อแอลกอฮอล์เดินทางมาสู่สมองเซลล์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนเกิดผลของอาการเมาค้างตามมาในที่สุด
ปฏิกิริยาสุดท้ายเป็นกระบวนการแห้งเหือดของน้ำหรือของเหลวภายในร่างกาย แอลกอฮอล์เป็นสารที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยของเหลวในร่างกาย โดยดูดซึมและขับถ่ายในรูปปัสสาวะและยังขับสารอาหารสำคัญๆ ออกมาอีกด้วย ในร่างกายจึงมีสารบางชนิดหลงเหลืออยู่ในปริมาณต่ำสุด เช่น แมกนีเซียม โปแตสเซียม รวมไปถึงวิตามินต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินซี เป็นต้น
อ้างอิง http://www2.it.kmutnb.ac.th/