ประเภทของการออกกำลังกาย นักวิทยศาสตร์การกีฬา ได้จำแนกรูปแบบของการออกกำลังกายไว้ 5 รูปแบบ คือ

1. การออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้ออยู่กับที่

การออกกำลังกายประเภทนี้จะไม่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย ตัวอย่างเช่น การใช้มือบีบวัตถุ การยืนดันเสาหรือกำแพง การนั่งบนเก้าอี้โดยการเหยียดแขนและเท้าออกไปแล้วเกร็งกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะเป็นเวลานานจน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่ไม่เหมาะกับรายที่เป็นโรคหัวใจ หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง เพราะจะมีการกลั้นหายใจในขณะปฏิบัติ และเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมสมรรถภาพทางกายได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะด้านระบบการหายใจ และระบบการไหลเวียนโลหิต

2. การออกกำลังกายแบบมีการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ

เป็นการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายขณะที่ออกกำลังกาย เช่น การวิดพื้น การยกน้ำหนัก การดึงข้อ จึงเหมาะกับผู้ที่มีความต้องการสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนของร่างกาย เช่น นักเพาะกายหรือนักยกน้ำหนัก ส่วนผลของการออกกำลังกายเช่นนี้จะเป็นไปทางเดียวกันกับชนิดแรกการออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้ออยู่กับที่

3. การออกกำลังกายแบบทำให้กล้ามเนื้อทำงานไปอย่างสม่ำเสมอตลอดการเคลื่อนไหว

ตัวอย่างการออกกำลังกาย เช่น การถีบจักรยานอยู่กับที่ การก้าวขั้นบันได หรือการใช้เครื่องมือทางชีวกลศาสตร์ เหมาะกับการใช้ทดสอบสมรรถภาพทางกายของนักกีฬา หรือผู้ที่มีความสมบูรณ์ทางร่างกายเป็นส่วนใหญ่ แต่จะต้องมีความรู้เป็นอย่างดี เพราะมีโอกาสเกิดอันตรายต่อผู้ออกกำลังกายได้ง่าย

4. การออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจนในระหว่างที่มีการเคลื่อนไหว

ตัวอย่าง เช่น การวิ่ง 100 เมตร กระโดดสูง พุ่งแหลน ทุ่มน้ำหนัก และขว้างจักร เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วจะปฏิบัติกันในหมู่นักกีฬาที่ทำการฝึกซ้อมหรือแข่งขัน จึงไม่เหมาะกับบุคคลธรรมดาทั่วไป

5. การออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน

เป็นลักษณะการออกกำลังกายที่มีการหายใจเข้าและหายใจออกอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างที่มีการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่งจ๊อกกิ้ง การเดินเร็วหรือการว่ายน้ำ ซึ่งการออกกำลังกายแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในหมู่ของนักออกกำลังกาย และเป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ตลอดจนในวงการแพทย์ เพราะการออกกำลังกายแบบนี้ จะสามารถบ่งบอกถึงสมรรถภาพทางกายของบุคคลนั้นได้เป็นอย่างดี โดยทำการทดสอบได้จากอัตราการเต้นของหัวใจ หรือ ความดันโลหิต นอกจากนี้ยังมีผลดีต่อทางด้านร่างกายอีกหลายอย่าง คือ
5:1 เป็นวิธีป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ดีที่สุด และทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น (เฉพาะในรายที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน)
52 เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก
5.3 ช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกายได้เป็นอย่างดี
5.4 ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
55 ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพ
5.6 ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค
5.7 ช่วยลดปริมาณสารคอเลสเตอรอลในเลือดลงได้

โดยทั่วไป การออกกำลังกายควรพิจารณาปัจจัย 4 ประการ คือ
1. วิธีการออกกำลังกาย
2. ความหนักของการออกกำลังกาย
3. ระยะเวลาการออกกำลังกาย
4. ความถี่ของการออกกำลังกาย

อ้างอิง

การออกกําลังกายเพื่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข . คู่มือก้าวเดินเพื่อสุขภาพ. นนทบุรี : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2553

ชูศักดิ์ เวชแพทย์ และกันยา ปาละวิวัธน์. สรีรวิทยาการออกกําลังกาย . กรุงเทพฯ.เทพรัตน์ การพิมพ์,2536.

รศ.นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์. การปฐมพยาบาลเนื่องจากการบาดเจ็บจากการออกกําลังกาย สํานักพิมพไทยวัฒนาพานิช .กรุงเทพฯ 2535.

คณะกรรมการส่งเสริมกีฬาและการออกกําลังกายเพื่อสุขภาพในสถานศึกษา. โครงการเครือข่ายการ ออกกําลังกายเพื่อสุขภาพสําหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2548.

Shares: