การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ประโยชน์ของการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเป็น โรคเบาหวาน
- ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
เพราะขณะออกกำลังกายกล้ามเนื้อ
และไขมันจะใช้น้ำตาลเพิ่มขึ้น
- ช่วยให้น้ำหนักตัวลดลง ซึ่งจะทำให้อาการของโรคเบาหวานดีขึ้น
- ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ซึ่งจะลดโรคแทรกซ้อนบางอย่างของเบาหวานได้
การเตรียมตัวก่อนออกกำลังกาย
- ผู้ป่วยต้องมีป้ายแสดงตัวว่าเป็นเบาหวานติดตัวไว้เสมอ
- ตรวจดูเท้าว่ามีแผล ตาปลา หรือการอักเสบใดๆ
- ใส่รองเท้าอย่างเหมาะสมสำหรับการออกกำลังกาย และต้องสวมถุงเท้าทุกครั้ง
- ต้องสามารถทราบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และมีน้ำตาลติดตัวเสมอ
- ดื่มน้ำให้พอทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย
หลักการออกกำลังกาย ควรทำสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดตอนอย่างน้อยวันละ 16-20 นาที หรือถึง 1ชั่วโมง จนเหงื่อออกซึม ๆ และสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมและไม่ควรออกกำลังกายขณะหิวหรืออิ่ม
วิธีการออกกำลังกาย ทำได้หลายอย่าง เช่น เดินไกล ๆ วิ่ง กายบริหาร โยคะ รำมวยจีน เป็นต้น จะใช้อย่างใดควรทำตามถนัด และเหมาะสมกับวัยหรือ โรคแทรกซ้อนทางหัวใจอื่น ๆ
– อายุมาก อาจเพียงเดินหรือบริหารท่าง่าย ๆ ในรายที่มีโรคหัวใจแทรก ต้องระมัดระวังไม่ให้ออกกำลังกายมากเกินไป และจะต้องหยุดทันทีเมื่อรู้สึกเหนื่อย หรือเจ็บแน่นหน้าอก เป็นต้น
– การทำงานด้วยแรงกายก็ได้ประโยชน์ เช่น ทำสวน ทำนา ทำไร่ เดินไกล ตักน้ำ ขุดดิน เข็นรถ เป็นต้น แต่ต้องมากพอให้มีเหงื่อออก และทำติดต่อกันอย่างน้อย 15 นาที ทำวันละครั้งหรืออย่างน้อย วันเว้นวัน
*หยุดออกกำลังกายทันทีเมื่อมีอาการ
- ตื่นเต้นกระสับกระส่าย
- มือสั่น ใจสั่น
- เหงื่อออกมากผิดปกติ อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ ตาพร่า หิว
- เจ็บแน่นหน้าอก หรือ เจ็บที่หน้าอกร้าวไปที่แขน คอ ขากรรไกร
- หายใจหอบมากผิดปกติ
*ข้อควรระวัง
สำหรับผู้ที่เริ่มออกกำลังกายควรเริ่มต้นที่ละน้อยตามกำลังของตนเองก่อน อย่าให้หักโหม หรือเหนื่อยเกินไป และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย
ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานาน หรือมีโรคแทรกซ้อนหรือเป็นผู้สูงอายุ ก่อนจะเริ่มออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน