แนวทางการรักษาโรคหวัดในเด็กเบื้องต้น
โรคหวัด (acute rhinitis, acute nasopharyngitis, common col d) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็น rhinovirus และ coronavirus ในเด็กเล็กมักมีไข้ร่วมด้วย เด็กอายุ 3 เดือน – 3 ปี อาจมีไข้สูง อาการเริ่มด้วยคัดจมูก ระคายคอ หรือเจ็บคอเล็กน้อย มักมีจาม น้ำมูกใส มีไข้ต่ำ ๆ เกิดขึ้นใน 2-3 ชั่วโมง เด็กมักไม่สบาย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อย อาการไอพบร่วมด้วยร้อยละ 60 – 80 1 – 3 วันต่อมาน้ำมูกจะเริ่มเป็น mucopurulent ซึ่งเป็นการดำเนินโรคปกติของหวัด เพราะมักจะมีการอักเสบของ sinus ร่วมด้วย (บางครั้งจึงใช้ชื่อ viral rhinosinusitis) อาการที่ไม่สบายนี้มักเป็นอยู่ 2 – 7 วัน ประมาณร้อยละ 31 มีไอ และร้อยละ 35 มีน้ำมูกต่อไปนาน 2 สัปดาห์ เด็กส่วนใหญ่เป็นหวัด 3-8 ครั้งต่อปีร้อยละ 10-15 เป็น 12 ครั้งต่อปี โดยเฉพาะเด็กที่เลี้ยงใน day care center มักเป็นหวัดบ่อยมากกว่าเด็กอื่น การรักษา โรคหวัดเป็นโรคที่หายได้เอง ควรให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น ได้แก่
1. การดูแลทั่วไป ได้แก่ การกินอาหารตามปกติ ไม่ลดอาหาร ไม่ควรบังคับให้เด็กกิน เพราะจะทำให้เด็กอาเจียนได้
2. รักษาตามอาการ
2.1 ในรายที่ไข้สูงกว่า 380 เซลเซียสทางรักแร้ ควรให้ยาลดไข้ paracetamol 10 มก./กก./ครั้ง เป็นครั้งคราว ทุก 4 – 6 ชั่วโมง แต่ในเด็กเล็กต่ำกว่า 3 เดือน ซึ่งมีไข้สูง จะต้องตรวจหาสาเหตุอื่นของไข้เสมอ เช่น การติดเชื้อของระบบประสาท การติดเชื้อในหูส่วนกลาง การติดเชื้อของระบบปัสสาวะ เป็นต้น
2.2 บรรเทาอาการคัดจมูกและลดน้ำมูก ในเด็กเล็กที่มีน้ำมูกมาก แนะนำให้ผู้ปกครองช่วยดูดออก หรือใช้ไม้พันสำลี หรือผ้านุ่มที่ม้วนปลายแหลมสอดเข้าไปซับน้ำมูก หรือดูดออกโดยใช้ลูกยางแดง ในเด็กโตสอนให้สั่งน้ำมูกเอง
2.3 การบรรเทาอาการไอ oral hydration เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการบรรเทาอาการไอ ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพราะจะทำให้เสมหะเหลวและถูกขับออกได้ soothing remedies ยากลุ่มนี้อาจลดอาการไอที่เกิดร่วมกับคอแห้ง อาจใช้น้ำอุ่นผสมกับน้ำผึ้ง น้ำมะนาว ให้ดื่มบ่อย ๆ ทำให้ชุ่มคอ และเสมหะหลุดออกมาได้ง่าย ยาขับเสมหะ (expectorant) ที่มีการศึกษาว่าได้ผล และ WHO แนะนำให้ใช้ ได้แก่ guaifenesin หรือ glyceryl guaiacolate แต่ต้องระวังผลข้างเคียงจากการให้ขนาดสูงเกินไป ซึ่งจะทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้ ส่วนชนิดอื่น ๆ เช่น ammonium chlorate, terpine hydrate, syrup ipecac ไม่มีการพิสูจน์ว่าได้ผล ยาละลายเสมหะ (mucolytic drug) ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่ามีประโยชน์ในโรคหวัด ยากดการไอ (cough suppressant) เช่น codiene, dextromethorphan จะทำให้เด็กไอไม่ออก มีเสมหะค้างและอุดตันหลอดลม ไม่ควรใช้ในเด็ก
3. การรักษาจำเพาะ (specific treatment) ยาปฏิชีวนะ ไม่ควรใช้ในการรักษาโรคหวัด หรือป้องกันโรคแทรกซ้อนจากหวัด จากการศึกษาจำนวนมากพบว่า นอกจากจะไม่จำเป็นแล้ว ยังมีอันตรายทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อที่ดื้อยา
4. การให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง เป็นสิ่งสำคัญมากในการรักษาหวัดในผู้ป่วยเด็ก ควรแนะนำให้ผู้ปกครองทราบถึงการดำเนินโรค การดูแลรักษาทั่วไป และลักษณะอาการต่าง ๆ ซึ่งบ่งว่าอาจมีภาวะแทรกซ้อน และควรรีบปรึกษาแพทย์ถ้าเด็กมีอาการผิดปกติ ได้แก่ อาการหายใจเร็วหรือหอบ หายใจลำบาก ไม่ดื่มนมและน้ำ ซึม หรือดูป่วยมากขึ้น