โรคปอดบวม
สาเหตุ และอาการ
โรคปออดบวมอาจเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อปอดบวมโดยตรง ติดต่อเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ปาก และตา เชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกมา หรือติดต่อโดยการใช้ภาชนะ และสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย มีระยะฟักตัวของโรค 1-3 วัน โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาทันท่วงที และเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในเด็กที่ต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด น้ำหนักตัวน้อย เด็กในวัยขวบแรก เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่มีความพิการมาแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจ เมื่อเป็นปอดบวมมักจะเป็นรุนแรง
โรคปอดบวมมักเกิดตามหลังโรคหวัด 2-3 วัน โดยจะมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบมักจะหายใจเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน ถ้าป่วยหนักมักจะซึม ไม่ดื่มนม ไม่ดื่มน้ำ ถ้าไข้สูงอาจชัก บางรายมีหายใจเสียงดัง ปาก เล็บ มือ เท้าเขียว และกระสับกระส่าย บางรายอาจไม่ชัดเจน อาจไม่อาจ แต่มีอาการซึม ดื่มนมหรือน้ำน้อยลงมาก ถ้ามีอาการเช่นนี้ ต้องพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ถ้ารักษาช้าหรือได้รับยาที่ไม่ถูกต้อง อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบ ฝีในปอด เป็นต้น
การป้องกัน และรักษา
1.หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรแนะนำให้ปิดปากด้วยผ้า หรือกระดาษเช็ดหน้า เวลาไอหรือจาม
2.ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
3.ในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน
4.หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นและไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น
5.เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัดใหญ่ ควรนอนพักผ่อนมากๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมาก กินยาลดไข้และใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือถ้าไม้อาการไม่ดีขึ้น คือมีอาการไอมากขึ้นแน่นหน้าอก นานเกิน 2 วัน ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคปอด หอบหืด โรคหัวใจ ไต หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็กที่หายใจเร็ว หอบ หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการคล้ายหวัดให้รีบไปพบแพทย์ทันที