วิธีป้องกันการตดเหม็นหรือตดบ่อย
อาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มักทำให้เกิดการสะสมแก๊สเป็นจำนวนมาก ดังนี้
- ลดอาหารที่มีเส้นใยอาหาร น้ำตาลธรรมชาติ และแป้งที่ย่อยยาก ซึ่งจะทำให้เกิดแก๊สในระบบย่อยอาหารขึ้นมาก ได้แก่ ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ แตงกวา พริกหยวก หัวหอม ถั่วลันเตา มันดิบ หัวผักกาดแดง ผลไม้บางชนิด เช่น แอปริคอท แอปเปิลแดง แอปเปิลเขียว กล้วย แตงโม
- ลดการกินธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ข้าวโอ๊ต ถั่วบางชนิด เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
- ลดการกินนมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส ไอศกรีม โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะย่อยแลคโตสผิดปกติ
- ลดการดื่มเครื่องดื่มน้ำอัดลมต่าง ๆ รวมถึงน้ำผลไม้ เบียร์ ไวน์
- ลดอาหารที่ทำมาจากไข่
- ลดอาหารทอดหรืออาหารที่มีไขมันสูง สามารถก่อให้เกิดอาการท้องอืดได้
- ลดน้ำตาลและสารที่ใช้แทนน้ำตาล เช่น ซอร์บิทอล
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มักทำให้เกิดการสะสมแก๊สเป็นจำนวนมาก ดังนี้
รับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างเร่งรีบจนเกินไปอาจทำให้มีการกลืนอากาศลงไปมากและเกิดแก๊สตามมาในที่สุด ผู้ที่สวมใส่ฟันปลอมควรตรวจดูให้ดีก่อนว่ามีความพอดีกับช่องปาก เพราะหากฟันปลอมหลวมจะทำให้เกิดการกลืนอากาศเข้าไประหว่างเคี้ยวอาหารได้
- อย่าดื่มน้ำก่อนมื้ออาหาร เนื่องจากจะทำให้สูญเสียกรดที่ใช้ในการย่อยอาหาร ทำให้อาหารถูกย่อยสลายได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทางที่ดีควรดื่มน้ำในช่วง 30 นาทีก่อนรับประทานอาหาร จะช่วยให้กระเพาะสามารถย่อยได้ดีขึ้น
- เลี่ยงพฤติกรรมใด ๆ ที่อาจทำให้ต้องกลืนอากาศเข้าไป เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง สูบบุหรี่ หรือดื่มน้ำจากหลอด
อย่างไรก็ตาม อาหารหรือพฤติกรรมแต่ละอย่างอาจส่งผลแตกต่างกันในแต่ละคน บางคนจะเกิดแก๊สมากหากรับประทานผลไม้กับโปรตีน แต่บางคนอาจมีแก๊สมากจากการรับประทานอาหารประเภทแป้งกับโปรตีนร่วมกัน ทางที่ดีควรสังเกตปัจจัยต่าง ๆ ที่น่าจะเป็นสาเหตุให้มีแก๊สสะสมในระบบย่อยอาหารมาก โดยลองจดบันทึกว่ารู้สึกอึดอัดท้อง เรอ หรือผายลมหลังจากการรับประทานอาหาร ยารักษาโรค หรือการทำกิจกรรมใด ๆ เพื่อเลี่ยงพฤติกรรมและอาหารที่น่าจะเป็นตัวการกระตุ้นการผายลมโดยเฉพาะ