โรคเบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นโดยในระยะยาวจะส่งผลทำให้เกิดการทำลายหลอดเลือดและ นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่รุนแรงมากขึ้น
ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีมากแค่ไหนในไทย
รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 425 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 642 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583 จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่าคนไทยประมาณ 4.8 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี
จากสถิติพบว่า ประชากรในวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน เป็นโรคเบาหวาน และ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรค และคุณอาจเป็นหนึ่งในนั้น ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคแต่เนิ่นเป็นประจำทุกๆ ปี และหากพบภาวะดังกล่าวต้องเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนจากโรคได้
จากรายงานเบื้องต้นทำให้ทราบถึงจำนวนผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉลี่ยแล้วนั้น เราควรให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1ครั้ง หากเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงต่างๆ จะได้สามารถรักษาได้ทันท่วงที
บุคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และควรได้รับการตรวจคัดกรอง ได้แก่
ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
ผู้ที่อ้วน และมีญาติเชื้อสายตรงที่เคยเป็นโรคเบาหวาน
ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
สตรีที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือมีประวัติการคลอดบุตรน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
การวินิจฉัยโรคเบาหวานมี 4 วิธี
การตรวจน้ำตาลหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง(FPG) ค่าระดับน้ำตาลในเลือดมีค่ามากกว่าหรือเท่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะเป็นโรคเบาหวาน
การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT) แพทย์จะทำการเจาะเลือดเข็มที่ 1 ก่อนการดื่มสารละลายกลูโคส และทำการเจาะเลือดซ้ำอีกครั้งหลังการดื่มสารละลาย หากพบว่ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน วิธีนี้จะทำในผู้ที่อดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
การตรวจน้ำตาลเวลาใดเวลาหนึ่ง (RPG) แล้วมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ร่วมกับมีอาการของเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ตามัว อ่อนเพลีย น้ำหนักลด แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
ผู้ที่การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสะสม (HbA1c) แพทย์จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อายุ หรือการเป็นโรคโลหิตจาง โดยหากค่าที่ตรวจได้มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย ภาวะแทรกซ้อนทางตา ไต หรือเส้นประสาทส่วยปลาย โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุด คือ ภาวะแทรกซ้อนทางตา ซึ่งสามารถพบได้เป็นจำนวนถึง 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
ความรุนแรงของโรคเบาหวาน
ในแต่ละวันจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 200 คน หรือ 8 รายต่อชั่วโมง และมีเพียง 10% ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีชีวิตอยู่โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานเฉลี่ยปีละกว่า 8,000 คน และพบว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูงขึ้นจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป
สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก เพื่อสร้างให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของโรคเบาหวานที่มีต่อบุคคลในครอบครัว โดยได้กำหนดสาระสำคัญประจำปี 2018-19 คือ “The Family and Diabetes” นอกจากนี้ยังมุ่งให้ความรู้แก่สมาชิกในครอบครัวในการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตลอดจนการป้องกันโรคเบาหวานโดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอีกด้วย
อาการของโรคเบาหวาน
ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะผู้ที่ตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน
หิวน้ำบ่อย
หิวบ่อย รับประทานจุ แต่น้ำหนักลด
ผิวแห้งกร้าน
เป็นแผลแล้วหายยาก
ตาพร่ามัว มองวัตถุไม่ถนัดหรือไม่ชัดเจน
ชาบริเวณปลายมือปลายเท้า
หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
อาการเหล่านี้หากเกิดขึ้นกัยตนเองหรือคนในครอบครัวแล้ว อย่าวางใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที อย่างไรตาม ไม่ควรรอจนอาการต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น เพราะบางครั้งกว่าจะเกิดอาการเหล่านี้ ระดับน้ำตาลในเลือดก็อาจสูงเกินไปแล้ว ทางที่ดีควรหมั่นตรวจสุขภาพและตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่เคยมีประวัติความทนต่อน้ำตาลบกพร่องหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
อ้างอิง
https://www.dmthai.org
https://www.bumrungrad.com