เบาหวานขึ้นตา

ปัจจุบันพบผู้ป่วยเบาหวานกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก สำหรับในประชากรไทยพบผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 3.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของประชากรในวัยผู้ใหญ่ เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยมาก และจำนวนผู้ป่วยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกประเทศทั่วโลก

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดที่จอตา (Retina) ได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่อาจเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ในที่สุด

เบาหวานขึ้นตาแบ่งระยะเวลาตามความรุนแรงของโรคเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  1. เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรกหรือระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy: NPDR) ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย คือที่ผนังหลอดเลือดที่จอตาไม่แข็งแรง ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง อาจทำให้เลือดหรือของเหลวรั่วออกมาในจอตา และทำให้เกิดจอตาบวม หากเกิดหลอดเลือดรั่วบริเวณจุดภาพชัด (Macula) จะทำให้เกิดจุดภาพชัดบวม (Macular Edema) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการมองเห็น หากมีการอุดตันของหลอดเลือด อาจทำให้เกิดจอตาหรือจุดภาพชัดขาดเลือด (Macular Ischemia) ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้
  2. เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า หรือระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เป็นระยะที่หลอดเลือดเกิดการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ มีการขาดเลือดที่จอตามากจนเกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม มีผนังไม่แข็งแรง เปราะแตกฉีกขาดได้ง่าย ทำให้มีเลือดออกในวุ้นตา เกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตา ลอก (Retinal Detachment) ตามมาได้ หรือถ้าหากเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นไปรบกวนการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตาและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อหิน (Neovascular Glaucoma) ได้

อาการเบาหวานขึ้นตา

ในระยะแรกของเบาหวานขึ้นตาอาจจะไม่มีอาการหรือความผิดปกติในการมองเห็น ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและละเลยการตรวจตา แต่มารู้ตัวอีกทีเมื่อเบาหวานเริ่มขึ้นตาแล้ว แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติเลยแม้จะอยู่ในความรุนแรงแล้วก็ตาม ซึ่งอาจพบอาการต่าง ๆ เช่น

  • สูญเสียการมองเห็น
  • แยกแยะสีได้ยากขึ้น
  • เห็นภาพมืดเป็นบางจุด
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • ตามัว การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่
  • มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา

ตรวจวินิจฉัยเบาหวานขึ้นตา

ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาและขยายม่านตาตรวจจอตา ถึงแม้จะไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็นเลยก็ตาม เพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หลังการขยายม่านตาตรวจจอตา ผู้ป่วยอาจมีอาการตามัวเป็นเวลา 4 – 6 ชั่วโมง และควรมีญาติไปด้วย เนื่องจากผู้ป่วยไม่ควรขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง ในช่วงเวลาดังกล่าว หากได้รับผลตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ ควรตรวจตาและขยายม่านตาเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง หากกรณีที่พบผลตรวจว่าเบาหวานขึ้นตา อาจได้รับการรักษาและจะได้รับการตรวจบ่อยขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของเบาหวานขึ้นตาและความรุนแรงของโรค

รักษาเบาหวานขึ้นตา

  1. การรักษาเบาหวานขึ้นตา ระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ หรือยังไม่มีการมองเห็นผิดปกติ อาจยังไม่จำเป็นต้องรักษาในทันที การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับน้ำตาลสะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการรักษา พร้อมกับการควบคุมโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เพื่อช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้ การตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดมากขึ้นจะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้เร็วและได้รับการรักษาได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะของโรคที่รุนแรงและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้
  2. การรักษาเบาหวานขึ้นตา ระยะก้าวหน้า เป็นระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ ในระยะนี้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานขึ้นตาจะต้องได้รับการรักษา วิธีการรักษาได้แก่
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการรักษาเพื่อควบคุมการรั่วซึมของหลอดเลือดและจอตาขาดเลือดเท่านั้น หลอดเลือดที่ผิดปกตินั้น อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยเลเซอร์อาจจะไม่ได้ทำให้การมองเห็นนั้นดีขึ้น หรือหายเป็นปกติ แต่เป็นเพียงการชะลอการรั่วซึมของเลือดและ จอตาขาดเลือดเท่านั้น
  • การฉีดยา Anti – Vascular Endothelial Growth Factor (Anti – VEGF) เข้าวุ้นตา เพื่อนกลับยังการเกิดหลอดเลือดงอกใหม่และลดการบวมของกฤษภาพชัดซึ่งจะช่วยให้การมองเห็นไม่แย่ลงนอกจากนี้กลุ่มยาสเตียรอยด์ (Steroids)อาจเป็นทางเลือกในการใช้รักษากับผู้ป่วยบางราย
  • การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) ในกรณีผู้ป่วยมีเลือดออกในวุ้นตามาก หรือมีพังผืดดึงรั้งจอตา ทำให้จอตาบวม จอตาหลุดลอกหรือฉีกขาด เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นถาวร

ป้องกันสูญเสียการมองเห็นจากเบาหวานขึ้นตา

  • งดสูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ควบคุมระดับความดันโลหิตควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • สังเกตอาการความเปลี่ยนแปลงในการมองเห็น หากมีความผิดปกติควรไปพบจักษุแพทย์โดยด่วน อาการผิดปกติดังกล่าว เช่นมองเห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว หรือมองเห็นเป็นจุดสีดำเป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรไปพบจักษุแพทย์ปีละหนึ่งครั้งเพื่อตรวจตาถึงแม้ว่าการมองเห็นจะเป็นปกติก็ตาม

อ้างอิง
https://www.bangkokhospital.com/content/diabetic-retinopathy

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/diabetics-230321/

Shares: