โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภัยเงียบที่คืบคลานเข้ามาในชีวิตของหลายคนโดยไม่รู้ตัว โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 95% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด สาเหตุหลักมาจากภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ประกอบกับการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนลดลง ซึ่งมักเกิดจากปัญหาน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วน

เหตุผลที่ควรระวังให้มาก

โรคเบาหวานชนิดนี้อาจไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะแรก ทำให้หลายคนมองข้ามจนกระทั่งโรคลุกลามจนยากต่อการควบคุม หากสังเกตให้ดี คุณอาจพบสัญญาณเตือนเหล่านี้…

  • ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
  • กระหายน้ำบ่อยคราว ปากแห้งผิดสังเกต
  • รับประทานอาหารมากขึ้น แต่น้ำหนักลดลงอย่างไม่เข้าใจสาเหตุ
  • แผลหายช้า บางครั้งติดเชื้อราได้ง่าย
  • สายตาพร่ามัว
  • มีอาการชาหรือรู้สึกเสียวตามปลายมือปลายเท้า
  • ในเพศชาย อาจประสบปัญหาสมรรถภาพทางเพศลดลง
  • ในเพศหญิง อาจพบเชื้อราในช่องคลอด คัน และมีตกขาวผิดปกติ

ใครน่าจะเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2

  1. ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือรูปร่างอ้วน โดยมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ที่ 23-24.90
  2. มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  3. ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป
  4. ผู้หญิงที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  5. ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย มีการเผาผลาญพลังงานต่ำ
  6. ผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง

อย่าละเลยโรคเบาหวานในยุคโควิด-19

การดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนและภาวะติดเชื้อซับซ้อน ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสม รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

อย่าปล่อยให้โรคเบาหวานแฝงตัวคุกคามสุขภาพของคุณ หากสงสัยว่ามีความเสี่ยง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดโดยเร็ว การรู้เร็ว รักษาเร็ว จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงและช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้

Shares: