การออกกำลังกายในคนอ้วน (Exercise in Obesity)

3D render of a medical background showing overweight male jogging

            เนื่องจากข้อจำกัดทาง สรีรวิทยาของคนอ้วน การแนะนำให้คนอ้วนออกกำลังกายชนิดเดียวกันกับที่คนทั่วไปนั้น คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือไม่เหมาะกับร่างกาย เกิดความท้อแท้และหมดกำลังใจเลิกราไปเสียก่อน โปรแกรมที่ใช้ในผู้ป่วยที่อ้วนมักเป็นการออกกำลังกายในลักษณะที่เพิ่มความหนักขึ้นช้าๆ (progressive intensity exercise programs) เพื่อให้ร่างกายมีเวลาเพียงพอในการปรับตัวก่อนที่จะเข้าสู่โปรแกรมการออกกำลังกายตามปกติ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน 1-2 เดือนหรือจะมากกว่านั้นก็ได้

            ไม่ควรใช้โปรแกรมการออกกำลังกายแบบหักโหมขณะที่สภาพร่างกายยังไม่ชิน การออกกำลังกายอาจเริ่มต้นด้วยกายบริหารที่สามารถทำได้ง่ายๆ ในท่านั่งหรือท่านอนหรือยืนอยู่กับที่ เช่น การยกแขน ยกขา แกว่งแขน บิดตัวไปมา หรือบริหารร่างกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อ

            เมื่อเกิดความเคยชิน จากนั้นจึงค่อยเพิ่มความหนัก (intensity) และเวลา (duration) ขึ้นที่ละน้อยกระทั่งเข้าสู่โปรแกรมตามปกติ เช่น ให้เดินเร็วๆบนสายพานหมุน ปั่นจักรยานอยู่กับที่ วิ่งอยู่กับที่ กระโดดตบ กระเชือก หรือ การออกกำลังกายในน้ำ เช่น เดินในน้ำ วิ่งในน้ำ หรือว่ายน้ำก็นับว่าเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคนอ้วน เพราะน้ำจะช่วยพยุงตัวไว้ ลดแรงกระแทกที่ข้อต่อ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บได้

            อย่างไรก็ตามปัญหาของการออกกำลังกายในคนอ้วนที่เป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงเบ่ง เช่น การยกน้ำหนัก (weight lifting) หรือการออกแรงหนักๆ เช่น การตีเทนนิส ฟุตบอล หรือ บาสเกตบอล เป็นต้น เพราะอาจจะทำให้เกิดเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  แต่ในรายที่ไม่มีข้อห้ามอาจทำได้

            การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาโรคอ้วนที่ควรใช้ควบคู่ไปกับการจำกัดอาหาร ถึงแม้ว่าจะไม่หวังผลในแง่การลดน้ำหนักหรือไขมันส่วนเกินมากนัก แต่มีประโยชน์ต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด สามารถลดความรุนแรงของโรคต่างๆที่พบได้บ่อยในคนอ้วน มีผลดีทางจิตใจและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคม

อ้างอิง : http://www.ped.si.mahidol.ac.th/

Shares: