มิติการส่งเสริมสุขภาพ
การดำเนินการการส่งเสริมสุขภาพ จะต้องคำนึงถึงความสำคัญในแต่ละมิติ ดังนี้ คือ
มิติที่ 1 คือ กลุ่มบุคคลคนเป้าหมายที่จะทำการส่งเสริมสุขภาพ จะเน้นกลุ่มใดบ้าง ได้แก่ เด็ก วัยรุ่น ชาย หญิง ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส
มิติที่ 2 คือ สถานที่เป้าหมายเฉพาะที่ทำการส่งเสริมสุขภาพจะต้องคำนึงถึงว่าสถานที่ที่จะส่งเสริมสุขภาพ คือ ครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน ชุมชน เมือง องค์กรกีฬาและวัฒนธรรม
มิติที่ 3 คือ กิจกรรมที่เน้นเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะจะต้องเป็นกิจกรรมที่บุคคลที่เข้าร่วม หรือได้รับประโยชน์และทำให้บุคคลเหล่านี้ เป็นผู้มีสุขภาพดีได้แก่ การรณรงค์เพื่อการเลิกสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ กิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร กิจกรรมการออกกำลังกาย กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมความปลอดภัย เช่น การรณรงค์เมาไม่ขับ เป็นต้น กิจกรรมตรวจสอบ คัดกรองเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคทางจิต ทันตสุขภาพ สุขภาพทางเพศ หรือโรคติดต่อทางเพศ
มิติที่ 4 คือ กลยุทธ์ในการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพ
- การให้ความรู้ทางด้านสุขศึกษา และการประชาสัมพันธ์ โดยเน้นการให้ข่าวสารแก่บุคคล และชุมชน
- การตลาดเชิงสังคม (Social Marketing) โดยการสร้างกระแสสังคม (Advocacy) ซึ่งเป็นการสร้างความรู้ให้เท่าทัน กระตุ้นให้สังคมสำนึก สมานฉันท์ ร่วมกันรณรงค์เพื่อสุขภาพ เป็นการสร้างประชาสังคม(Civic Society) เพื่อสุขภาพ
- การสร้างเครือข่าย (Coalition Building) หรือการสร้างแนวทางร่วมประสาน
- การพัฒนาชุมชน
- การบริการด้านสุขภาพเพื่อการป้องกัน
- การกำหนดนโยบายสาธารณะที่ชัดเจน
- การออกกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพ
- การกำหนดนโยบายการเงินและการคลัง