ประวัติการออกกำลังกาย
มนุษย์เรารู้จักการออกกำลังกาย และประโยชน์ของการออกกำลังกายมานานแล้ว โดยเฉพาะในแง่ของการป้องกันและรักษาโรค ดังจะเห็นได้จากการเล่าถึงพระจีนนิกายเต๋าในสมัยโบราณ ได้ทำการฝึกกังฟูกันมานานกว่า 3,000 ปีแล้ว ซึ่งการฝึกนั้นมีทั้งการเกร็งกล้ามเนื้อ การกำหนดลมหายใจ เพื่อการรักษาโรค และอาการปวดเมื่อยต่าง ๆ และชาวฮินดูก็เป็นชนชาติหนึ่งที่รู้จักประโยชน์ของการออกกำลังกายมานาน ในหนังสืออายุรเวทได้บรรยายถึงการออกกำลังกายและการนวดเพื่อรักษาโรครูห์มาติซึม แม้แต่ชาวกรีกก็ยังรู้จักถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย เช่นกัน โดยได้มีการสร้างวิหารแห่งสุขภาพที่เรียกกันว่า เอสเคอเฟีย (Asclepia) เพื่อใช้เป็นสถานที่รักษาโรคต่าง ๆ และเป็นที่ออกกำลังกายอีกด้วย
เชื่อกันว่า ฮิปโปเครติส เป็นแพทย์คนแรก ที่เห็นความสำคัญของการเคลื่อนไหว และการออกกำลังกาย ที่น่าสนใจก็คือข้อเขียนของเขาที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย ซึ่งได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “อวัยวะทุกส่วนของร่างกายล้วนมีหน้าที่ หากอวัยวะเหล่านั้นได้มีการใช้งานอย่างพอเหมาะพอดี มีการออกกำลังกายที่เหมาะสมก็จะเจริญเติบโตไปด้วยดี มีความแข็งแรง และจะเสื่อมช้า แต่หากอวัยวะเหล่านั้นไม่ได้ใช้งาน ก็มีแต่จะอ่อนแอ เจริญเติบโตช้า เกิดเป็นโรคได้ง่ายและเสื่อมตามอายุได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับข้อ และเส้นเอ็นต่าง ๆ พวกที่ใช้ขาเดินน้อย ๆ โดยปล่อยให้มันอยู่เฉย ๆ กระดูก และกล้ามเนื้อจะฝ่อ และอ่อนแรงได้รวดเร็วกว่าพวกที่ใช้ขาเดิน” จะเห็นได้ว่า ข้อเขียนอันนี้สามารถที่จะนำมาใช้ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีซึ่งสอดคล้องกับกฎของการใช้ และไม่ใช้ (Law of use and disuse) กล่าวคือ ส่วนใดของร่างกายที่มีการ เคลื่อนไหว หรือมีการใช้ร่างกายส่วนนั้นมาก ส่วนนั้นก็จะแข็งแรง ส่วนใดที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว หรือไม่ได้เคลื่อนไหว ร่างกายส่วนนั้นก็จะเล็กลีบ หรืออ่อนแอ
บุคคลอีกท่านหนึ่งที่ควรกล่าวคือ กาเลน (Galen) เป็นแพทย์ชาวกรีกเช่นกัน กาเลน เกิดที่ เปอร์กามัส (pergamus) ในมายเซีย (Mysia) เมื่อ พ.ศ. 673 (ค.ศ. 130) กาเลน ได้กล่าวไว้ว่า “การออกกำลังกายที่ดีนั้นไม่ใช่เพื่อเป็นการฝึกฝนร่างกายเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการกระทำที่สนุกและให้ความสบายใจด้วย”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2266 (ค.ศ. 1723) แพทย์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ นิโคลัส อังเดรย์ (Nicolas Andry) ได้เปิดสถานกายบริหารส่วนบุคคลขึ้นแห่งแรกของยุโรป ที่ประเทศเดนมาร์ก โดยได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้า เฟดเดอริกที่ 6 และมีบุคคลอีกท่านหนึ่ง คือ ลิงก์ (Ling) ก็ได้เอาความรู้นี้ไปเปิดสถานกายบริหารที่ประเทศสวีเดน และถือว่า ลิงก์ เป็นผู้ที่ริเริ่มการออกกำลังกายอย่างมี แบบแผน และขั้นตอน โดยกำหนดให้มีท่าเริ่มต้นรวมทั้งความหนักเบาของการออกกำลังกายนั้น ๆ โดยการใช้แรงต้าน หรือการใช้น้ำหนักช่วยในการออกกำลังกาย
ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้เริ่มเห็นความสำคัญของการออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่อดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า President’s Council on Physical Fitness and Sport. เพื่อศึกษาหาข้อมูล และ ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของการออกกำลังกายอย่างจริงจัง ต่อมา นายแพทย์เคนเน็ช คูเปอร์ (Dr. Kenneth Cooper) ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิค เมื่อปี พ.ศ. 2511 นี้และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนกระทั่งปัจจุบันนี้
สำหรับเรื่องของการออกกำลังกายในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่ามีมานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากการนวดแผนโบราณ หรือจากรูปปั้นฤาษีดัดตนในวัดพระเชตุพน ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี
เอกสารและแหล่งอ้างอิง
- ชูศักดิ์ เวชแพศย์ และกันยา ปาละวิวัชน์. สรีรวิทยาของการออกกำลังกาย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร : ธรรกมลการพิมพ์, 2536.
- ประทุม ม่วงมี. รากฐานทางสรีรวิทยาของการออกกำลังกายและพลศึกษา. กรุงเทพมหานคร : บูรพาสาส์น, 2527.
- พิชิต ภูมิจันทร์ และคณะ. วิทยาศาสตร์การกีฬา. กรุงเทพมหานคร : แสงศิลป์การพิมพ์, 2533.
- ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา, การกีฬาแห่งประเทศไทย. วิทยาศาสตร์การกีฬาสำหรับผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬา. กรุงเทพมหานคร : ไทยมิตรการพิมพ์, 2535.
- รีดเดอรส์ ไดเจสท์. ไขปัญหารักษาสุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : รีดเดอรส์ ไดเจสท์ (ประเทศไทย) จำกัด, 2542.
- อนันต์ อัตชู. สรีรวิทยาการออกกำลังกาย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2527.
- American College of Sports Medicine. Guidilines for exercise testing and Prescription 4 th ed. Philadelphia: Lea & Febiger, 1991.