วิตามิน บี ใครใครก็ว่าดีแถมมีประโยชน์ แล้ววิตามิน บี แบบไหนล่ะ? ที่เหมาะกับร่างกายของเรา
สารพัด วิตามิน และอาหารเสริม ที่หลายคนสรรหามาเพื่อเติมเต็มให้ร่างกายได้มีสุขภาพที่แข็งแรงนั้น แต่มีใครรู้บ้างว่า วิตามิน บี มีกี่ชนิด แล้วแต่ละชนิดเหมาะกับใครบ้าง
บทความฉบับนี้ ทีมเภสัชกร บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์คุณภาพชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือก วิตามิน บี เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายมาฝากกัน
เริ่มกันที่ วิตามินบี 1 (Vitamin B1)
วิตามินบี 1 หรือ ไทอามีน (Thiamine) โดดเด่นในการช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ช่วยเผาผลาญอาหารเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย ช่วยให้อยากอาหาร และยังจำเป็นต่อสมอง กล้ามเนื้อหัวใจ ปริมาณที่ร่างกายต้องการ วันละ 1.5 มิลลิกรัม
อาการเมื่อขาดวิตามินบี 1 ทำให้เป็นโรคเหน็บชา กล้ามเนื้อแขนขาไม่มีแรง ร่างกายอ่อนเพลีย หลงลืมง่าย ไปจนถึงกล้ามเนื้อตาอ่อนล้า หากเป็นมากอาจมีอาการใจสั่น หัวใจโตและเต้นเร็ว มีอาการหอบ เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ร่างกายหยุดการเจริญเติบโตได้ เด็กที่ขาดวิตามินบี 1 จะร้องเสียงแหลมเพราะหงุดหงิด ขาดน้ำตาล มีอาการหอบ หรืออ้าปากร้องแต่ไม่มีเสียงเพราะกล่องเสียงเป็นอัมพาต และเสียชีวิตภายใน 2 ชั่วโมง หากผู้ใหญ่ขาดวิตามินบี 1 เรียกว่า เหน็บชาแห้ง จะมีอาการชา กล้ามเนื้อลีบ และอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า เหน็บชาเปียก จะมีอาการชาและบวม เมื่อกดเนื้อแล้วเนื้อจะบุ๋ม ไม่เด้งคืนตัว เมื่อยึดมือแล้วแขนสั่น และอีกกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบทางสมอง เรียกว่า เวอร์นิคโคซาคอฟ (Wernicke-Korsakoff syndrome) สมองเสียประสิทธิภาพ ซึ่งในผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีวิตามินบี 1 ต่ำ
วิตามินบี 2 (Vitamin B2)
วิตามินบี 2 หรือ ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) ช่วยให้ร่างกายได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย การสร้างเส้นผม ผิวหนัง เล็บ ช่วยให้ผิวสุขภาพดี ช่วยในการผลิตเม็ดเลือดแดง ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และสามารถช่วยลดความรุนแรงของไมเกรนได้ โดยปริมาณที่ร่างกายต้องการ เด็กทารก 0.3-0.4 มิลลิกรัมต่อวัน เด็ก 0.6-0.9 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ชาย 1.3 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้หญิง 1.1 มิลลิกรัมต่อวัน สตรีมีครรภ์ 1.4 มิลลิกรัมต่อวัน สตรีให้นมบุตร 1 มิลลิกรัมต่อวัน
อาการเมื่อขาดวิตามินบี 2 ทำให้เกิดแผลที่มุมปากทั้งสองข้าง ที่เรียกว่า ปากนกกระจอก (Angular stomatitis) ผิวหนังแห้งและแตก ลิ้นอักเสบ เจ็บลิ้น แผลร้อนใน ผิวไวต่อแสง ตาแพ้แสงแดด กลัวแสง ผิวรอบจมูก คิ้ว และหูลอก คาแดงคัน มีผื่น น้ำตาไหล ตัวเหลือง ขาบวม ระบบการทำงานของระบบประสาทผิดปกติ รู้สึกอ่อนเพลีย
วิตามินบี 3 (Vitamin B3)
วิตามินบี 3 หรือไนอะซิน (Niacin) ช่วยให้ร่างกายได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ไขมัน ลดคอเลสเตอรอล ควบคุมน้ำตาลในเลือด ขยายหลอดเลือดเล็ก ๆ ช่วยในการไหลเวียนของเลือด กำจัดสารก่อการแพ้ฮีสตามีน ที่ทำให้เกิดอาการคัน บรรเทาอาการข้ออักเสบ บรรเทาอาการซึมเศร้า ช่วยให้ระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท และผิวหนังมีความสมบูรณ์และมีสุขภาพดี โดยปริมาณที่ร่างกายต้องการ วันละ 19 มิลลิกรัม
อาการเมื่อขาดวิตามินบี 3 ทำให้ท้องเสีย มีผื่น แต่ถ้าขาดรุนแรงและขาดเป็นเวลานานจะเปนโรคผิวที่โดนแสงแล้วเป็นผื่นดำ เรียกว่า เพลลากรา และมีอาการเบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน หลับยาก ความจำไม่ดี
วิตามินบี 5 (Vitamin B5)
วิตามินบี 5 ช่วยในการเผาผลาญไขมัน คาร์โบไฮเดรต เสริมการหลั่งฮอร์โมนต้านการแพ้ บำรุงผิวพรรณและเส้นผม และต่อต้านความเครียดโดยปริมาณที่ร่างกายต้องการวันละ 4-7 มิลลิกรัม
อาการเมื่อขาดวิตามินบี 5 มีอาการล้า เหน็บชา ซึมเศร้า เบื่ออาหาร อาเจียน และนอนไม่หลับ
วิตามินบี 6 (Vitamin B6)
วิตามินบี 6 ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างเนื้อเยื่อและการเจริญเติบโตเผาผลาญไขมัน และคาร์โบไฮเดรตและเป็นพลังงาน ช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร ช่วยบำรุงผิวหนัง เป็นสารที่จำเป็นในการทำงานของระบบประสาท ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง (ฮีโมโลบิน) บรรเทาอาการเจ็บหน้าอกและปวดมดลูกก่อนมีประจำเดือน ลดการคลื่นไส้ อาเจียนในสตรีมีครรภ์ โดยปริมาณที่ร่างกายต้องการวันละ 2 มิลลิกรัม
อาการเมื่อขาดวิตามินบี 6 ทำให้ผิวหนังอักเสบ คันตามผิวหนัง เกิดผื่น เกิดสิว ปากแห้งแตก ลิ้นอักเสบ เล็บเป็นคลื่น ผมร่วง กระดูกผุ ข้อเสื่อม ปวดตามมือตามเท้า ประสาทเสื่อม ลมชัก นอนไม่หลับ หงุดหงิด ซึมเศร้า อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก บวมก่อนมีประจำเดือน
วิตามินบี 7 (Vitamin B7)
วิตามินบี 7 หรือไบโอติน (Biotin) หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “ไบโอติน” ในการเป็นตัวช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง แต่จริง ๆ แล้วไบโอตินยังจำเป็นต่อกระบวนการเผาผลาญไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานให้ร่างกาย จึงสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้ยังช่วยในการผลิตกรดไขมันเพื่อสุขภาพผิว เส้นผม ป้องกันผมหงอกก่อนวัย จึงช่วยในการรักษาสุขภาพของผิวหนัง ผม ระบบประสาท และไขกระดูกและยังช่วยในการผลิตฮอร์โมนเพศในช่วงวัยรุ่น และยังมีส่วนช่วยในการผลิตกรดอะมิโน จังจำเป็นต่อการเจริญเติบโต โดยปริมาณที่ร่างกายต้องการวันละ 30-100 ไมโครกรัม
อาการเมื่อขาดไบโอติน ทำให้ผิวหนังแห้ง ผิวหนังแตก เกิดสะเก็ดรอบจมูก ผมร่วง ผมเปราะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ซึมเศร้า
วิตามินบี 12 (Vitamin B12)
วิตามินบี 12 หรือ ไซยาโนโคบาลามิน ช่วยในการสร้างโปรตีน ช่วยสร้างกรดอะมิโนเมทไธโอนีน ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง ลดการซึมเศร้า ต้านอาการเหน็บชา ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โดยปริมาณที่ร่างกายต้องการวันละ 1-2 ไมโครกรัม
อาการเมื่อขาดวิตามินบี 12 โลหิตจาง เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ อ่อนเพลีย เจ็บลิ้น เจ็บปาก การเจริญเติบโตในเด็กไม่เป็นไปตามปกติ ขาดสมาธิ เครียด กล้ามเนื้อเจ็บตึง อัมพาต
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว จะได้เลือกวิตามินชนิดที่เหมาะกับร่างกายของเรา เพื่อช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ร่างกายต้องการ แต่อย่าลืมว่า การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกายที่สุด
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับไบโอฟาร์มทาง Line Official : @biopharm ติดตามเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่ www.facebook.com/healthyclub.by.biopharm